การตั้งคำถามกับตัวเอง
“สิ่งใดที่เปลี่ยนกมลสันดานมนุษย์ได้ ?”- Ravel คำพูดนี้คือคำถามเชาว์ซึ่งว่ากันว่าถูกถามโดยแม่มดผู้มีอายุมากกว่าชั่วอายุคนและมีฤทธิ์เดชอันทรงพลังกว่าผู้ใดในโลก แม่มดชราภาพผู้มีอิทธิฤทธิ์ทรงพลังผู้นี้ เป็นผู้ที่ชอบตั้งปริศนาเชาว์และทิ้งไว้ให้นักผจญภัยผู้ต้องการขอความปรารถนาของตนให้เป็นจริง นั้นจะเกิดผลสำเร็จได้ทุกเรื่องหากสามารถตอบคำถามของนางได้ เพียงแต่ว่าถ้าหากใครตอบคำถามของนางผิดจะต้องถูกนางสาป ด้วยแต่คำถามที่ยากที่สุดและเหมือนจะลึกซึ้งที่สุดอีกด้วยตั้งแต่นางเคยถามมาก็คือ “สิ่งใดที่เปลี่ยนกมลสันดานมนุษย์ได้ ?”
คำถามนี้เองเป็นคำถามไม่เคยมีใครตอบได้มาก่อนเพราะทุกตัวเลือกของคำตอบสำหรับคนทั่วไปอันได้แก่
ความรัก, ความเกลียดชัง, พลังอำนาจ, ความโลภ, การทรยศ, ความตาย, ความผิดหวัง, ช่วงวัย, ความเจ็บปวด และความสำเร็จ ทุกคำตอบเหล่านี้แม้จะตอบให้นางแม่มดไปอย่างไร นางก็มักจะมีข้อกังขามาสงสัยและแย้งว่าไม่จริงเสมอ
ครั้งหนึ่งเคยมีบุรุษหนุ่มผู้ต้องการทำตามฝันของตนให้เป็นจริงจึงไปท้าทายคำถามของนางและตอบกลับไปว่า “ความรัก คือสิ่งที่เปลี่ยนตัวตนของเราได้” เมื่อบุรุษหนุ่มได้ให้คำตอบนางไป ดูเหมือนว่านางจะนิ่งไปสักครู่หนึ่ง ตกอยู่ในภวังค์ความคิดของนางและตอบกลับมาด้วยโทนน้ำเสียงที่ดูหม่นหมองและเหนื่อยที่จะฟังคำตอบนี้ “คนเราทุกคนล้วนแล้วแต่รักตัวเองด้วยกันทั้งนั้น และคงจะยากที่จะทำให้ตัวเองเปลี่ยนไปเพียงเพราะคำว่ารัก” ซึ่งแม้แต่คำตอบนี้เองจากชายหนุ่มก็ถือเป็นคำตอบที่ผิดเช่นกันและเขาก็ลงเอยด้วยจุดจบคือคำสาปเลวร้ายจากนาง… และว่ากันว่าแล้วที่คำถามนี้ที่เป็นคำถามที่ยากที่สุดและไม่เคยมีใครตอบถูกได้เลย นั่นก็เพราะว่าแม้แต่ตัวของนางเองก็ยังไม่รู้เช่นเดียวกันว่าคำตอบนี้คำถามนี้คืออะไร… นางจึงตั้งคำถามนี้มาเพื่อฟังคำตอบจากคนทั่วสารทิศด้วยกันเพื่อหวังว่าใครสักคนจะหากคำตอบให้นางได้…
หลังจากที่ผมได้ยินเรื่องเล่านี้ไปผมเองก็รู้สึกตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าแล้วอะไรที่ทำให้ตัวผมเองมายืนอยู่ในจุดนี้ที่นี่ตรงนี้เป็นเราในทุกวัน ?
ผมอยู่ในช่วงของการศึกษาระดับมหาลัยในช่วงปลายๆที่กำลังจะจบออกไปทำงานในไม่ช้าแล้วในตลอดช่วงปีที่ผ่านมาผมรู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ คำว่าเกิดใหม่อาจจะฟังดูแล้วน่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะคำว่า “เกิดใหม่” (Reincarnation) ในเชิงทางทฤษฎีทั้งของทางศาสนวิทยาหรือจะทางจิตวิทยาที่ Carl Jung ได้เขียนหนังสือเรื่อง Man and His Symbols ว่าด้วยความทรงจำที่หายไปเคยหลบซ่อนไว้ (Cryptomnesia) (ยังไม่ได้รับการศึกษาและยอมรับอย่างจริงจังในเชิงวิทยาศาสตร์)ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา โดยไม่ว่าจะในทางหนึ่งสิ่งค่อนข้างคล้ายคลึงกันคือเรื่องของ “ความทรงจำหรือตัวตน” เพราะในเวลาที่คนเรานั้นสิ้นลมหายใจไปสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราก็คือการดับชั่วขณะหนึ่งและจากนั้นวิญญาณของเราจะเดินทางข้ามผ่าน
ดินแดนหนึ่งที่เรียกว่า “ทางผ่าน” ในแต่ล่ะศาสนาก็มีทางผ่านที่ไม่เหมือนกัน แต่บางทีอาจจะเคยมีใครได้ยินเรื่อง “แม่น้ำสติกซ์” (Styx) คือแม่น้ำเวลาที่ให้วิญญาณคนตายนั่งเรือข้ามผ่านฝากนี้ไปและคนที่ตายจะต้องดื่มน้ำจากลำธารสติกซ์นี้ ซึ่งผลของมันทำให้เราลืมความทรงจำในอดีตไปทั้งหมด พร้อมที่จะเกิดไปเป็นคนใหม่หลังข้ามแม่น้ำนี้ไป บางทีคำเปรียบเปรยนี้อาจจะฟังดูน่าสนใจซึ่งส่วนมากมักจะใช้เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรค์อันยิ่งใหญ่ที่คอยขัดขวางคนเหล่านั้นเสียมากกว่า การที่รอดพ้นเหตุการณ์นั้นมาได้แล้วนั่นเอง ซึ่งจะทำให้เราเติบโตขึ้นจากเหตุการณ์นั้นๆ
แต่เคยสงสัยไหมว่าหลังจากที่เราเคยผ่านเหตุการณ์อันยากลำบากนั้นมาได้แล้วเมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งหรือบางช่วงเราเคย “ลืมตัวตนของเราเอง” บ้างไหมว่าเรากลายมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร ? สำหรับผมเองผมรู้สึกว่าผมเป็นอย่างนั้นนะ
ครั้งหนึ่งในสมัยก่อนตอนมัธยมต้นผมเป็นคนที่ไม่ค่อยคิดอะไรนักไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอนาคตหรืออดีตก็ตามผมเพียงแค่อยู่ไปวันๆเล่นเกมซ้ำๆทุกๆวันให้เวลามันผ่านไปมีความสุขไปวันๆ ต่อมาเมื่อได้มาอยู่มัธยมปลายผมก็เริ่มคิดมากมากขึ้นอาจจะเป็นเพราะเหมือนเรียนแล้วรู้สึกพบว่าสายที่ตัวเองเรียนอยู่ไม่ใช่หนทางของตัวเอง ความกดดันเริ่มมีมากขึ้น จนบางทีอาจจะลืมไปเลยว่าตอนมัธยมต้นคือช่วงที่มีความสุขรู้สึกสนุกไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่เพียงแค่เส้นกั้นบางๆการเลื่อนขยับขึ้นมาหนึ่งปี กลับเป็นตัวเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนความรู้สึก
ความรู้สึกที่มีในตอนนั้นก็คือมีแต่คำว่าไม่ชอบ ไม่พอใจ รู้สึกเศร้าที่ตัดสินใจผิด และด้วยความที่ตอนนั้นคือก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบพูดหรือนำเสนอผลงานตัวเองอะไรมากเท่าใดนัก เรียกว่ากิจกรรมหรือวิชาที่ต้องนำเสนอไม่ค่อยมีเลยก็ว่าได้ดีกว่า บางทีการที่ไม่มีแรงกระตุ้นที่จะสามารถนำสิ่งที่เรารู้สิ่งที่เรามีออกมาแสดงให้คนอื่นเห็น แต่ต้องเก็บไว้อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเก็บกดก็เป็นได้ จนกระทั่งมายังช่วงมหาวิทยาลัย
ทุกสิ่งสำหรับผมก็ดูเปลี่ยนไปอีกผมได้เริ่มเรียนในสาขาที่ตัวเองชอบคือทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ การที่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบและพอเราทำได้ก็ก็ทำให้เราเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ต่างกับตอนสมัยที่อยู่มัธยมคือเป็นคนที่ไม่รู้ถึงข้อดีของตัวเองคิดว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว เพราะวิชาหลักในสายนั้นไม่ใช่ทางของเราเลยสักเท่าใด แต่กลับกันกับช่วงมหาลัยเพราะเราได้เริ่มแสดงความสามารถในสิ่งที่เราสนใจ
พอได้นำเสนอในสิ่งที่เป็นตัวเองเยอะๆมีโอกาสมากขึ้นสิ่งที่ได้มาก็คือความมั่นใจแต่กระนั้นเมื่อเรามีความมั่นใจแล้วสิ่งที่ เรามักอาจจะเป็นต่อมาคือเรื่องของการลืมตัวเองไปว่าสมัยก่อนเราเป็นคนอย่างไร ความทรนงตัวของเราอาจจะเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัวอย่างเช่นการที่มองว่าปัญหาเล็กๆแค่นี้ทำไมคนอื่นถึงไม่สามารถแก้ด้วยตัวเองได้ ?
ทั้งๆที่เราเองก็มีปัญหาขอเราปัญหาของเรามีภาระเยอะกว่า เหนื่อยกว่า ต้องอดทนมากกว่าทำอะไรก็ต้องทำด้วยตัวคนเดียว ซึ่งในช่วงเวลานั้นเรามักจะไม่ได้คิดหรอกว่าทำไมเราถึงต้องทำอะไรคนเดียวและทำไมเราถึงมองว่าปัญหาเราสำคัญกว่าและปัญหาของคนอื่นด้อยกว่า จริงๆแล้วคำตอบมันก็ไม่มีผิดไม่มีถูกแต่สิ่งหนึ่งที่เรามองข้ามไปคือเราลืมว่าในอดีตเราเองก็เคยเจอปัญหาแบบนี้ด้วยเช่นกัน แต่ตอนนั้นสำหรับเราแล้วปัญหาที่อาจจะเล็กๆสำหรับคนอื่นก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเราเช่นกัน
ในเทอมนี้ผมต้องการท้าทายตัวเองว่าสิ่งที่ผ่านมาในช่วงเวลาทั้งสองปีที่ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นนั้นเป็นหนทางที่ใช่สำหรับตัวเองแล้วหรือไม่ ผมได้ตัดสินใจลงเรียนวิชา Cloud Native ซึ่งถ้าในวงการของสาย IT ก็เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองหรือถ้าจะให้เปรียบเทียบ ก็คือมองเสียว่าเป็นวิชาที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมและการพัฒนาตวามรู้ใหม่ๆด้วยกันไปทุกคนในกลุ่ม ซึ่งถือว่าท้าทายเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาที่ผมเรียนก็ได้รับการมอบหมายงานที่ให้ทำงานกลุ่มเช่นเดียวกัน งานกลุ่มนี้เป็นงานที่เราทุกคนต้องช่วยกันทำ บ้างก็มีพื้นฐานบ้างก็ใหม่ต่อทางด้านนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนแรกคือเริ่มจากการทำงานเดียว แยกของใครของมันไปก่อนเรียกได้ว่าการประสานงานยังไม่ติด ยังไม่เปิดใจนักก็ทำให้ภาระงานไปตกที่คนใดคนหนึ่ง
ในช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่รู้สึกเหมือนที่บอกไปข้างต้นคือการเรียนรู้อะไรใหม่ๆเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าการที่เราได้มาอยู่ที่จุดนี้ การที่เรามีความสนใจ ความตั้งมั่นและจิตวิญญาณของเราต่อสิ่งสิ่งหนึ่งก็เสมือนคนที่มองเห็นผู้เหวกว้างลึกและมองไม่เห็นก้นพื้นดินที่ต้องข้ามไป การข้ามในครั้งแรกอาจจะข้ามไปได้ลำบากเราต้องขว้างสลักให้ไปเกี่ยวกับหินหรือต้นไม้ฝั่งตรงข้าม การข้ามไปครั้งแรกอาจจะดูหวาดเสียว เพราะสิ่งที่เรายึดไว้มีแค่เชือกที่ติดสลักไว้กับปลายฝั่งตรงข้าม ขณะที่เรากำลังใช้มือของเราสองข้างจับเชือกไปค่อยๆข้ามไป ยิ่งไปไกลจากฝั่งที่เราอยู่เท่าไหร่ ความหวั่นพรึงก็ยิ่งมากเท่านั้น
โดยเฉพาะเมื่อเรามาอยู่ตรงกลางขอบเหวลึกระหว่างฝั่งแล้ว เราจะคอยคิดตลอดเวลาว่าเราจะไปต่อหรือเราจะหยุดแค่นี้ดี แต่ถ้าจะถอยทางก็ไกลไปเสียแล้วซึ่งบางทีอาจจะเกิดคำถามว่าถ้าเกิดมือเผลอหลุดจากเชือกไปแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ?
นับว่าโชคดีที่ต่อให้คุณตกจากเชือกลงมาจากเหวนั้นคุณก็ยังไม่ตายแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความหวั่นกลัวเสียมากกว่า เป็นความกลัวทางจิตใจของคุณเพราะทั้งเหวที่คุณกำลังไต่ข้ามไปและเชือกเส้นนี้ มันเกิดขึ้นภายในจิตใจของคุณและของผม เส้นเชือกที่คุณขว้างไปเกี่ยวผูกกับต้นไม้ที่ตรงข้ามฝั่งของคุณในตอนแรกมันก็คือ “ความเชื่อมั่น” (Faith) ยิ่งเรามีปณิธาณที่แรงกล้าเท่าใดเชือกก็ยิ่งผูกแน่นมากขึ้นเท่านั้นและทำให้เวลาเราไต่เชือกไปยังอีกฝั่งเรารู้สึกอุ่นใจได้ว่าเราสามารถข้ามมั่นไป แต่ถ้าหากเราตกลงไประหว่างทาง ? สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ?
คนที่ตกลงไประหว่างทางก็มีบ้างผมเองก็ตกลงไปกลางเหวนั้นเหมือนกันความมืดและแคบมันอาจจะทำให้เราหายใจไม่ออกรู้สึกกังวลตลอดเวลา แต่ถ้าเราลองนึกดู ว่าทำไมเวลาตอนเรานอน เราต้องการความมืด ? พื้นที่ที่เล็กๆเป็นส่วนตัว ? กลับไม่มีใครต้องการนอนกลางห้องที่เปิดไฟสว่าง กลางห้องโถ่งกว้างๆ ?
ความมืดและที่แคบๆบางครั้งก็เป็นที่ให้เราได้พักได้กลับมาทบทวนช่วงเวลาที่สำคัญที่ผ่านๆมาในชีวิตเช่นกัน ตอนเรานอนสำหรับบางคนอาจจะได้ทบทวนถึงสิ่งที่ตัวเองผ่านมาได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองสักครู่ ได้คิดว่าชีวิตที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ตนได้ผ่านอะไรไปบ้างแล้ว
การตกลงมาและพลาดจากการออก Comfort Zone ก็ทำให้เราได้คิดได้หยุดพักระหว่างทางเช่นกันว่าเราจะต้องการทำอะไรต่อไปในชีวิต “จริงๆแล้วเราต้องการอะไร ?” เมื่อเราใช้เวลาสักพักเราจะพบว่าความจริงแล้วหลุมที่เราตกลงมาและเรายังคงมีชีวิตอยู่นั้นก็เพราะเหวลึกที่เราคิดนี้ ความจริงมันแค่หลุมตื้นๆ เพียงแต่ทางข้ามมันไกล เรากลัวที่จะมองลงไปยังข้างล่างๆจริงๆเราจึงคิดว่าเหวนี้คือ เหวที่กว้างและลึก เมื่อจิตของเราคิดเช่นนั้นเชือกที่เราไต่ก็ค่อยๆหลวมลงๆ จนกระทั่งเราตกลงมา และเมื่อเราอยู่ในช่วงภวังค์ของเราคนเดียว และสายตาเริ่มปรับตัวได้เราก็จะพบว่าเชือกที่อยู่ในมือเราค่อยความจริงแล้วก็ไม่ได้หลุดไปไหนเรายังปีนขึ้นไปได้ เพียงแต่ในช่วงความตระหนก เราลืมทุกอย่างไปที่อยู่รอบตัวเรา ทำให้เราละเลยบางสิ่งไป
ถ้าความเชื่อมั่นของเรากลับมาอีกครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะเริ่มกล้าที่จะไต่ขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อนั้นเราก็จะพบว่าเชือกแน่นขึ้นเพราะเรากลับมามีความศรัทธา ถ้าหากเป้าหมายของเราคนเราถูกสั่นคลอนหรือหายไป การจะก้าวข้ามออก Comfort Zone ที่เราคุ้นเคยก็จะทำได้ยาก เพราะเราพอใจกับที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว เรามองว่าตัวเราในตอนนี้ดีพอ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มอะไรลงไปอีก แต่สำหรับผมการก้าวข้ามขึ้นมาได้ในครั้งนี้ก็ไม่ได้แค่ตัวเราคนเดียว แต่ยังมีเพื่อนที่ตามมาอีกด้วย ด้วยความใจร้อนอาจจะทำให้เราลืมคนข้างหลังไป แต่ถ้าเราลองนึกดูการจะทำอะไรสักอย่างที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทุกคนล้วนมีความเสี่ยงร่วมกัน การข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง ถ้าไม่ใช่เราก็ต้องเป็นเพื่อนของเราเองทุกคนต่างต้องข้ามไปด้วยกันทั้งสิ้น เพราะปลายทางของวิชานี้คือการก้าวข้ามขีดจำกัดและความเคยชินของตัวเอง
ซึ่งสะพานนี้ถ้าหากให้เราข้ามไปคนเดียวและเพื่อนๆที่เดินทางมากับเราต่างคนก็ต่างไปสร้างสะพานของตัวเองข้างๆกันขนานกับเรา สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือการต้องไปนั่งรออีกฝั่งคนเดียวและไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะมองเพื่อนติดปัญหาเดียวกับเราระหว่างทาง และลองนึกดูถ้าหากขากลับหลังจากทริปนี้เราเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว ขากลับก็ใช้เชือกเพียงเส้นๆเดียว ?
ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่ผลลัพธ์ที่วิชา Cloud Native นี้ต้องการเลย เพราะในวิชานี้สิ่งที่เราทำไม่ใช่การวิ่งไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุดและก็จบลงที่มีเส้นเชือกแห้งๆ โครงเครงๆทิ้งไว้ระหว่างกลางเหวให้เคว้งคว้างแลดูหวาดเสียว แต่สิ่งที่เราต้องการและถูกมอบหมายจากวิชานี้คือ “การข้ามไปยังจุดหมายและสร้างสะพานที่แข็งแกร่ง” เพราะวิชานี้ในทุกๆสัปดาห์เราต้องส่งงานให้ถึงตามที่มอบหมาย และในขณะเดียวกันก็ตามกลับไปแก้ส่วนที่เหลือ ถ้าหากเราไม่ทราบเลยว่าที่ผ่านมา เพื่อนร่วมทีมของเราได้สร้างอะไรไปบ้าง ต่างคนต่างสร้างสะพานของใครของมัน เราจะกล้าเรียกมันว่าสะพานหรือไม่ ? เพราะมันเป็นเพียงแค่เส้นเชือกบางๆที่แกว่งไปตามสายลมอีกไม่นานก็คงหลุดไป
วิธีการและแนวคิดของเราจึงต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่การสร้างสะพานไม่ใช่เพียงแค่การไปให้ถึงจุดหมาย แต่เป็นการสร้างสะพานที่แข็งแกร่งและมั่นคงพร้อมที่จะให้เพื่อนทุกคนไปถึงจุดหมาย การที่มีคนหนึ่งเริ่มต้นสร้างสะพานก่อน “ ไม่ได้หมายความว่าคุณเสียเปรียบ ไม่ได้หมายความว่าคุณคือคนแบกรับความหวังของทุกคน ไม่ได้หมายความว่าคุณพลาดไม่ได้ ” แต่มันคือการที่คุณได้ลองนำความเชื่อของคุณออกมาให้เพื่อนในทีมได้เห็น บางครั้งสิ่งที่ทีมต้องการก็คือเรื่องของความเชื่อมั่นและกำลังใจ สิ่งพวกนี้มันวัดกันไม่ได้ว่าใครขาดทุนใครได้เปรียบ มันคือเรื่องของความรู้สึกที่เราจะมอบให้ ดังนั้นคนที่ก้าวไปก่อนก็เสมือนคนที่บุกเบิกต้องการเป็นโครงเริ่มสร้างและให้เพื่อนทุกคนค่อยๆช่วยกัน ประกอบโครงขึ้นมาสะพานนี้ก็จะแข็งแกร่งขึ้น หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหาก็สามารถช่วยกันซ่อมได้ทันที เพราะนี่คือโครงสะพานของเราทุกคน
ถ้าหากลองย้อนกลับไปยังคำถามวันแรกที่เราเคยรู้สึกเลยคือ “ทำไมคนเรื่องแค่นี้คนอื่นถึงทำไม่ได้ ภาระของเรายังมากกว่าตั้งเยอะ ทำไมไม่มีใครเข้าใจเรา” หากคำถามนี้เกิดขึ้นกับตัวเราอีกที ตอนนี้เราตอบตัวเราเองได้แล้วหรือยังครับว่าทำไม ?
และคำถามสุดท้าย “สิ่งใดที่เปลี่ยนกมลสันดานมนุษย์ได้ ?” จากทั้งช่วงชีวิตของตัวคุณและช่วงชีวิตของตัวผม หากนำคำถามนี้ไปถามให้ผู้อื่น คำตอบที่ได้มาคุณพอใจแล้วหรือยัง ?
หรือบางทีคำตอบนี้ มันอาจจะต้องให้ตัวเราเป็นคนตอบเอง … ?